ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องกังวล กรณีภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบกับการท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว อันดับแรก คือ เหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ความเสียหายเกิดขึ้นมาก นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก และทำให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองเรื่องการท่องเที่ยว
หากวิเคราะห์เรื่องสึนามิในครั้งนั้น จะพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่มีการเตรียมการณ์ใด ๆ ในพื้นที่ และเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สึนามิที่เกิดในญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้ ที่ตำแหน่งของการเกิดคลื่น ใกล้ฝั่งกว่ามากทำให้มีระยะเวลาในการเตือนภัยไม่ถึงสิบนาที ในขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดในประเทศไทยมีระยะเวลาการเตือนภัยถึงสองชั่วโมง ถ้าเรามีระบบเตือนภัยที่ดี ผมคิดว่าสึนามิครั้งนั้นอาจไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว แม้ว่าจะมีอาคารเสียหาย แต่เรามีเวลามากพอที่จะจัดการเรื่องการอพยพคนออกจากพื้นที่
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเราไม่ควรโทษธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากมีการจัดการที่ดี มีการป้องกันที่ดี มีการให้ความรู้ก็สามารถจัดการได้
กรณีน้ำตกสายรุ้งที่จังหวัดตรังที่มีน้ำทะลักออกมาอย่างรวดเร็วในบริเวณน้ำตก และมีนักท่องเที่ยวอยู่จำนวนมาก ซึ่งน้ำป่าลักษณะนี้ คนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ก็ทราบ แต่ว่าไม่มีระบบเตือนภัยที่ดี
เมื่อปีที่แล้วเราเกิดพายุฝนตกหนักในภาคใต้ แต่ไม่เกิดความเสียหาย เนื่องจากเริ่มมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
ย้อนกลับไปช่วงปี 2540 เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ปาย ซึ่งในขณะนั้นเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายพบว่า ปริมาณน้ำที่ปายในปีนั้นไม่ได้เพิ่มกว่าปกติ แต่มีการไปปลูกสร้างอาคารเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ขวางทางน้ำ ทำให้น้ำขังอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีการก่อสร้างอาคารของชาวบ้าน แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจไม่ทราบ หรือคิดว่าไม่เป็นไร เหตุการณ์คงไม่เกิดในช่วง 1-2 ปี ชี้ให้เห็นว่า การไม่ใส่ใจกับพื้นที่จะส่งผลให้ภัยพิบัติขยายขนาดอย่างที่ไม่ควรเป็น
เหตุการณ์เรือโดยสารล่มที่เกาะสีชังประมาณปี 2530 เนื่องจากเป็นเรือที่สร้างอย่างไม่ถูกหลักการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้ เพราะต้องการเอาใจนักท่องเที่ยวที่กลัวเปียกจึงออกแบบให้หน้าต่างปิดสนิท จึงทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตมากเมื่อเรือล่ม เหตุการณ์แบบนี้เป็นภัยพิบัติหรือไม่ ธรรมชาติมีส่วนเพียงระดับหนึ่ง หากเราไม่มีความรู้ หรือไม่ใส่ใจจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงโดยไม่จำเป็น
ธรรมชาติมีผลต่อผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว คนเหล่านี้ต้องมีความรู้ ผมเชื่อว่า ผู้ประกอบการเองต้องการเอาใจนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การโฆษณาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวมักมองแต่ด้านบวก และนักท่องเที่ยวมักคาดหวังให้ทุกอย่างดีไปหมด แต่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาตินั้นมักมีความอันตราย ในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งจะเห็นว่าไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่เนื่องจากรู้ถึงความอันตราย แต่ว่าการท่องเที่ยวมองอีกมุมหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ตลอดเวลา และถือว่ามีศักยภาพในการรับมือได้ ยิ่งไปเจอกับนักท่องเที่ยวที่ไม่พยายามเข้าใจบริบทในพื้นที่ ไม่ยอมรับกฏระเบียบ ชอบฝ่าฝืน ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการเกรงใจซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยง
การท่องเที่ยวของประเทศไทยราคาถูกเนื่องจากต้นทุนหลายอย่างไม่ถูกผนวกไว้ในราคา ต้นทุนการจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้แบกรับโดยนักท่องเที่ยวโดยตรง หากแต่มีผู้อื่นแบกรับต้นทุนนี้ไว้ด้วย ทั้งที่ความจริงแล้วต้นทุนด้านการท่องเที่ยวสูงกว่าราคาที่ขาย
เรื่องของภัยพิบัติ บางพื้นที่มีความเสี่ยงมาก ผมคิดว่าต้องมีมาตรการที่บวกค่าใช้จ่ายในการจัดการภัยพิบัติเข้าไว้ด้วย หากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ไม่เสี่ยงกับพื้นที่เสี่ยงแล้วเสียค่าใช้จ่ายเท่ากัน จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่ตระหนัก โดยถ้าเดินทางในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องแพงในกรณีที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปช่วยชีวิตหรือกู้ภัย
บางครั้งการท่องเที่ยวไปเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางให้กับคนในพื้นที่ เช่น เมื่อมีการพัฒนาการท่องเที่ยว จะรุกไล่คนที่เคยอยู่ในพื้นที่นั้นให้ต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยต้องยอมรับว่าชาวบ้านจะเป็นรองนักลงทุนอยู่เสมอ
การแย่งทรัพยากร เช่น น้ำ โรงแรมมักตกเป็นเป้านิ่งในเรื่องของการเป็นแหล่งก่อให้เกิดน้ำเสีย ตลอดจนการใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรต้องเตรียมตัวในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นได้ง่ายมาก
เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องในต่างประเทศ คือ มีนักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยมาก ๆ ซึ่งการท่องเที่ยวประเภทนี้ต้องมีราคาแพง และไม่สามารถทำเป็นจำนวนมาก (Mass) ได้ นอกจากนี้ การโปรโมทการท่องเที่ยวต้องเอาความจริงมาเสนอเท่านั้น
วิภาวี คุณาวิชยานนท์
ปัญหาในระดับโลก
• การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดและรถติด โดยผลงานวิจัยระบุว่า เราใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และในอนาคตเราอาจจะต้องสร้างโลกเพิ่มซึ่งเป็นไปไม่ได้
• น้ำมันกำลังจะหมด และรถอาจจะกลายเป็นเศษขยะ
• การเผาผลาญพลังงาน ทำให้เกิดปัญหา Green House อากาศในโลกร้อนขึ้น โดยมีสาเหตุจากการตัดต้นไม้ อุณหภูมิในโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จากการวิจัยระบุว่า เกาะมัลดีฟส์จะเป็นที่แรกที่จมหายไป รัฐบาลของมัลดีฟส์จำเป็นต้องมองหาพื้นที่ในการอพยพประชากร
• เมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก อัมสเตอร์ดัม โตเกียว และกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะจมน้ำอย่างถาวร
• สภาวะอากาศที่รุนแรงและแปรปรวน เช่น กรณีพายุนากีสในพม่า
• น้ำท่วม ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด และโรคระบาดจากน้ำเน่า
• การขาดแคลนอาหาร
• การเปลี่ยนแปลงวัฏจักรของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตล้มตาย หรือกรณีปะการังฟอกขาว
ปัญหาของประเทศไทย
• กรณีพื้นที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่บริเวณวัดขุนสมุทรจีน
• ปัญหาแผ่นดินทรุด
• การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำและอุโมงค์ยักษ์
• รอยเลื่อนซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเขื่อนแตก เช่น กรณีเขื่อนศรีนครินทร์
การทำงานของกลุ่ม Design for Disaster (D4D)
• เกิดจากความตระหนกในปัญหาสึนามิและการครุ่นคิดเกี่ยวกับกรณีขุนสมุทรจีน รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงตั้งกลุ่ม D4D ขึ้นมา โดยเป็นการรวมตัวของอาจารย์และนักออกแบบที่มีการสร้างสรรค์กิจกรรมหลากหลาย เช่น การทำเสื้อยืด การเก็บซากชิ้นส่วนของโรงภาพยนตร์สยามหลังถูกเผาเพื่อนำไปให้ศิลปิน สถาปนิก นักร้อง สร้างงานศิลปะแล้วมีการจัดแสดงงานศิลปะดังกล่าว ทั้งนี้ ในวันเปิดงานมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุน โดยพยายามสอดแทรกเรื่องภัยพิบัติไปด้วย
• กิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของ D4D
• จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงน้ำท่วม กลุ่ม D4D ได้นำเอาอุปกรณ์รอบตัวมาออกแบบเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต เช่น ขวดพลาสติก กาละมัง
• บริเวณวัดขุนสมุทรจีน มีการออกแบบบ้านร่วมกับนักศึกษาเพื่อรับมือน้ำท่วม
• วังหลัง ท่าน้ำศิริราช มีการตั้งโจทย์ว่าหากน้ำท่วมวังหลังรุนแรงจะรับมือได้อย่างไร โดยนักศึกษาพยายามแก้ปัญหาโดยใช้งานออกแบบ เช่น การสร้างสวนหย่อม การสร้างทางเดิน การสร้างสะพานลอยที่มีห่วงยาง หลังจากงานออกแบบมีการเปิดเวทีเสนอไอเดียดังกล่าวโดยมีการเชิญพระ แม่ค้า และประชาชนมาร่วมรับฟัง
การออกแบบเพื่อการสร้างสรรค์ในต่างประเทศ
• การออกแบบเมืองให้สวยงามและน่าสนใจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
♣ การสร้างแรงบันดาลใจให้คนเมือง เช่น การสร้างบันไดดนตรีเพื่อโน้มน้าวให้คนขึ้นบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อน
♣ ไอเดีย Free Hug เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างคนเมือง
♣ การขายอากาศบรรจุในกระป๋อง โดยเขียนคำบรรยายติดที่กระป๋องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
♣ การสร้างเครื่องเล่นสำหรับเด็กที่ใช้สูบน้ำได้ด้วย
ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
การนำเสนอจะเน้นเรื่องภัยพิบัติ แผ่นดินไหวและสึนามิ ในความเห็นของผม ปัญหาเรื่องภัยพิบัติกับการท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเข้ากันไม่ได้ เพราะการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วพูดเรื่องภัยพิบัติก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที และสิ่งที่ห้ามไม่ได้ กรณีมีหมอดูมาพยากรณ์ภัยพิบัติ เช่น การเกิดสึนามิ แผ่นดินไหว มหาภัยพิบัติ ตามชื่อของการสัมมนา คือ 2012 จะเกิดโลกแตก ซึ่งมีคนจำนวนมากที่เชื่อเรื่องนี้
วิธีที่ดีกว่าการแก้ข่าว คือ การให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ดูแย่อย่างที่คิด
แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบางบริเวณ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย พม่า รวมถึงบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามัน โดยแผ่นดินไหวจะเกิดตามตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก แผ่นเปลือกโลกมีอยู่มากมาย บางแผ่นใหญ่ บางแผ่นเล็ก ทั้งนี้ แผ่นดินไหวร้อยละ 99 จะเกิดตามแนวรอยต่อ
ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณแนวตะเข็บชื่อ Eurasian Plate และมีอีกแผ่นหนึ่งที่กำลังมุดเข้ามาข้างใต้แผ่นที่เราตั้งอยู่ โดยแนวรอยต่อนี้อยู่ใกล้กับเกาะสุมาตราและเคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว
แผ่นดินไหวจะเกิดไล่ตามแนวหัวเกาะสุมาตรา โดยในขณะที่เกิดแผ่นดินไหวและไถลไปตามแนวเปลือกโลกนั้น พื้นมหาสมุทรก็จะยกตัวขึ้นกระทันหัน 2-3 เมตรตลอดแนวจึงทำให้เกิดคลื่นยักษ์กระจายตัวออกมาทั้งสองทาง ด้านหนึ่งมาทางประเทศไทย อีกด้านหนึ่งไปทางอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ แล้วต่อไปถึงแอฟริกา โดยเกิดเป็นคลื่นยักษ์สึนามิในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ทิศทางของคลื่นจะวิ่งตั้งฉากกับแนวรอยต่อ คลื่นฝั่งหนึ่งมาทางภูเก็ต พังงา ระนอง และกระบี่ ส่วนคลื่นอีกฝั่งไปทางศรีลังกา ชายฝั่งอินเดียตอนใต้ และบางส่วนเลยต่อไปทาง Somalia ทั้งนี้ คลื่นในทิศทางอื่น ๆ จะไม่รุนแรง ทำให้พม่า บังคลาเทศ จึงไม่เจอกับสึนามิที่รุนแรง
บริเวณหาดกมลา กระแสน้ำที่รุนแรงในบริเวณนี้ทำให้เกิดแรงดันต่อผนังอาคารบ้านเรือนสูงถึงประมาณ 1,000กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ คลื่นสึนามิในบริเวณต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งจะมีความรุนแรงไม่เท่ากันและก่อให้เกิดความเสียหายที่แตกต่างกัน
บริเวณที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด คือ เขาหลัก จังหวัดพังงาที่มีระดับน้ำสูงสุดประมาณ 11 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ กระแสน้ำบริเวณนี้ยังรุนแรงที่สุดทำให้เกิดแรงดันน้ำต่ออาคารบ้านเรือนได้ถึงประมาณ 2,500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,000 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดประมาณ 8,000 รายส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมาก การจะทำให้คนเลิกกลัวต้องใช้เวลานาน
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีการฟื้นตัว คือ การจัดการ โดยมีการจัดตั้งระบบเตือนภัยที่หาดป่าตอง เป็นหอสีขาวที่ต่อเข้ากับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
หลังจากที่ประชาชนเชื่อว่าเรามีระบบเตือนภัยที่ดีก็จะอุ่นใจและเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง โดยในขณะนี้ เรามีระบบเตือนภัยซ้อนกันอยู่ ทั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติและศูนย์เตือนภัยนานาชาติ ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยนานาชาติจะตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและสามารถกระจายข้อมูลไปยัง 26 ประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริกา
จากการวิจัยพบว่า สึนามิเคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 600 ปีที่แล้ว และเกือบประมาณ 2,800 ปีที่แล้ว นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก รวมทั้งมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยสึนามิไม่น่าจะเกิดทุกปี แต่เราก็ไม่ประมาทเนื่องจากมีการจัดทำระบบเตือนภัยที่ดีพอสมควรแล้ว
จากข้อมูลในแผนที่ประเทศไทย พบว่าแนวรอยเปลือกโลกอยู่ในทะเล และในแผ่นเปลือกโลกเองก็มีรอยร้าวหรือ รอยแตกอยู่มากมายที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” ซึ่งส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยมากพอสมควรไม่ได้เกิดขึ้นน้อยอย่างที่เป็นที่เข้าใจกัน โดยขนาดใหญ่จะมีขนาดประมาณ 7 ริคเตอร์ ส่วนขนาดเล็กประมาณ 6.5
ริคเตอร์จะพบบริเวณจังหวัดน่าน ขนาด 5.9 ริคเตอร์ในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี และขนาดประมาณ 5 ริคเตอร์
กระจายอยู่ในภาคเหนือโดยทั่วไป
กรณีเฮติ ซึ่งอาคารไม่ได้ออกแบบเพื่อต้านแผ่นดินไหว เมื่อเจอแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใกล้เมืองหลวง ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสองแสนราย ทั้งนี้ อาคารบ้านเรือนจะต้องทนแผ่นดินไหวให้ได้มากกว่านี้
สำหรับอินโดนีเซีย เกิดแผ่นดินไหวในขนาดไม่ใหญ่มากประมาณ 6.2 ริคเตอร์เกือบทุกปี แต่ส่วนใหญ่จะเกิดในทะเล แต่ครั้งนี้ล่าสุดเกิดในตำแหน่งที่ใกล้กับเมืองมาก อยู่ห่างจาก Yogyakarta ไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรซึ่งมีประชากรหนาแน่นจึงทำให้มีผู้เสียชิวิตมาก
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณใกล้กับเมือง Christchurch เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลางซึ่งมีขนาด 6.3 ริคเตอร์ โดยจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองประมาณ 5 กิโลเมตรทำให้อาคารทุกหลังเสียหายและมีคนไทยเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ทั้งที่ ก่อนหน้านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริคเตอร์แต่อยู่ห่างจากเมืองถึง 40 กิโลเมตรซึ่งทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนประเทศไทยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแต่ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง เนื่องจากเกิดในเทือกเขาบ้าง ในอ่างเก็บน้ำบ้าง ในทะเลบ้าง ในพื้นที่ป่าเขาบ้าง ไม่ตรงกับเมืองจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวเกิดได้ในพื้นที่ภาคเหนือตามแนวรอยต่อหรือรอยเลื่อน นอกจากนี้ ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยยังชี้ให้เห็นว่าเราควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ปี 1995 ผมได้มีโอกาสไปดูสถานที่จริง เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายให้ญี่ปุ่นอย่างมาก แต่เพิ่งจะถูกลบสถิติด้วยแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในญี่ปุ่น ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 6,000 ราย และมีอาคารเสียหายประมาณ 70,000 หลัง
สาเหตุหลัก คือ เกิดแผ่นดินไหวใต้เมืองนี้เนื่องจากมีรอยเลื่อนเล็ก ๆ อยู่ใต้เมืองรอยหนึ่ง โดยรอยเลื่อนนี้ใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นพัน ๆ ปีกว่าจะระเบิดเป็นแผ่นดินไหว แต่ว่าการระเบิดในช่วงปี 1995 เป็นช่วงที่ประชาชนในเมืองไม่ทราบว่ามีรอยเลื่อนนี้อยู่
หลังจากเหตุการณ์นี้ ญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับรอยเลื่อนเล็ก ๆ และพบว่ามีรอยเลื่อนประเภทนี้ประมาณ 200-300 แห่งทั่วเกาะญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนประมาณ 10 รอยกระจายตัวอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ที่ยังไม่ active มากนัก บริเวณที่เราต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาคเหนือและตะวันตกที่มีรอยเลื่อนซึ่งอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริคเตอร์ได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในรอบ 200-300 ปีซึ่งผมไม่สามารถพยากรณ์ได้
การเตรียมตัวรับแผ่นดินไหวจะต้องพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น การเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินหลังเกิดเหตุ การควบคุมอาคารสิ่งก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัย การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัย เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
ในสถานการณ์จริง เหตุการณ์จะเกิดเร็วมากคิดอะไรก็ไม่ทัน วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด คือให้อาคารทุกหลังที่เราจะต้องใช้ชีวิตอยู่สามารถทนแผ่นดินไหวได้ แม้ว่าจะแตกร้าวก็ขอให้ตั้งอยู่ ไม่ถล่มลงมา ซึ่งยังนับว่าเป็นปัญหาเนื่องจากเรายังไม่มีการจัดการที่ดี
ในตอนนี้ประเทศไทยมีกฏหมายบังคับให้พื้นที่เสี่ยงภัยต้องออกแบบอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว หากแต่ไม่ได้บังคับอาคารทุกหลัง ทั้งที่ความจริงแล้วควรบังคับให้อาคารทุกหลังเป็นไปตามกฏหมายนี้ซึ่งทำให้ผมสรุปว่า เราคงยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณใกล้เคียงกับเมือง
กฏกระทรวงฉบับที่ 49
- ให้ออกแบบอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว
- จำกัดพื้นที่ 10 จังหวัด
- บังคับใช้กับอาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารที่สูงเกิน 15 เมตร
ขณะนี้กฎหมายได้ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงแม้กระทั่งกับเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีสาเหตุจากสภาพทางธรณีวิทยาของกรุงเทพฯ ที่เป็นดินอ่อนและส่งผลกระทบต่ออาคารบางประเภทมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่
พื้นที่ที่มีดินอ่อนจะได้รับผลกระทบและสามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีตึกสูงจำนวนมากซึ่งอาจได้รับผลกระทบ โดยมีการเตือนภัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อตึกสูงที่หาดใหญ่เท่าใดนัก แต่เกิดผลกระทบต่อตึกสูงในกรุงเทพฯ แผ่นดินไหวในเสฉวน ประเทศจีนก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อตึกสูงในเชียงใหม่และเชียงราย แต่เกิดผลกระทบกับตึกสูงในกรุงเทพฯ นับว่าเป็นข้อมูลที่ชี้ชัดว่าตึกสูงในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดในระยะไกล
สำหรับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ยังคงมีปัญหาเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่เกินไป กฎหมายฉบับนี้เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2552 วิศวกรและสถาปนิกส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควรส่งผลให้อาคารไม่ได้มาตรฐาน
ส่วนอาคารรุ่นเก่าจำนวนมากก็อาจไม่ปลอดภัย เช่น ตึกแถวทั่วไปเมื่อเจอแผ่นดินไหว จะโยก และหักโค่นในที่สุด การแก้ปัญหาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนกำแพงเป็นผนังเบา การเพิ่มกำแพงด้านหน้า การเพิ่มขนาดเสา โดยที่ผ่านมาเรายังไม่ตื่นตัวและยังไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ
แนวทางการปรับปรุงอาคารเพื่อต้านแผ่นดินไหว
♣ เปลี่ยนกำแพงอิฐก่อให้เป็นผนังเบา
♣ เพิ่มกำแพงอิฐก่อด้านหน้าอาคาร
♣ เพิ่มขนาดเสา คาน แถวหน้า
♣ ปรับปรุงโครงสร้างให้ทนการโยก บิดตัว
ตัวอย่างการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ได้แก่ การเพิ่มความเหนียวแก่เสาคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยการห่อเสาช่วงล่างด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์
โชคดีที่แผ่นดินไหวในเมืองไทยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย นาน ๆ จะเกิดสักครั้งจึงทำให้ความเสี่ยงไม่สูงมากนัก แต่ในกรณีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงแล้วไม่เตรียมพร้อมจะทำให้เกิดปัญหามาก และไม่ได้เกิดปัญหาเฉพาะกับเรื่องของการท่องเที่ยว แต่คงส่งผลกระทบไปในทุกภาคส่วน
เรียบเรียง : กองวิจัยการตลาด